วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การศึกษาตลอดชีวิต

การศึกษาตลอดชีวิต                    Coombs พบว่ารูปแบบการศึกษาในระบบโรงเรียนของประเทศด้อยพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนา ไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชน ได้อย่างทั่วถึงทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการศึกษา (Educational Crisis) เพราะประชาชนที่มีฐานะดีเท่านั้นที่มีโอกาศได้รับการศึกษา ส่วน คนยากจนขาดโอกาสในการศึกษา แม้รัฐบาลต่างๆ ได้ทุ่มเทงบประมาณการศึกษาสูงมากก็ตาม แต่การศึกษาไม่สามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษาของประชาชน โดยเฉพาะผู้อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล รัฐบาลยิ่งพัฒนาคนรวยกลับรวยยิ่งขึ้น คนจนกลับจนลง จึงทำให้มีการเรียกร้อง ให้มีการปฏิรูปการศึกษา นักปฏิรูปการศึกษา อาทิ เปาโล แฟร์ (Paulo Freire) ชาวบราซิล เขียนเรื่อง "การศึกษาของผู้ที่ถูกกดขี่" (Pedagogy of the Oppressed) อีวาน อีลิช (Ivan Ilich) เขียนเรื่อง "โรงเรียนตายแล้ว" (Deschooling Society) และ Faure เขียนเรื่อง "Learning to be" ให้กับองค์กร Unesco เสนอว่าควรจะปฏิรูประบบการศึกษาในโรงเรียน มาเป็นการศึกษานอก โรงเรียน และส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้รูปแบบ การดำรงชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมอุตสาหกรรม ที่ได้มีการนำเทคโนโลยี เครื่องจักร เครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ทุน แรงงาน ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤตการณ์ตลาดแรงงาน มนุษย์เราจึงต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อที่จะได้ก้าวทันโลกที่ เปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ของคนเราจึงไม่หยุดเพียงที่โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย แต่เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา มนุษย์เรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต นั้นคือการรวมเอาการศึกษาในระบบโรงเรียน (Formal Education) นอกระบบโรงเรียน (Informal Education)เข้าด้วยกัน คนเราสามารถเลือกศึกษาได้ในช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิตตามความเหมาะสม การศึกษา และการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกแห่งไม่ว่าจะ ในครอบครัว วัด ชุมชน สถาบันการศึกษา สถานประกอบการ และแหล่งวิชาต่างๆ การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตกลายเป็นความจำเป็นของมนุษย์ปัจจุบัน

ความหมาย
               การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หมายถึง การรับรู้ความรู้ ทักษะ และเจตคติ ตั้งแต่เกิดจนตายจากบุคคลหรือสถาบันใดๆ โดยสามารถ จะเรียนรู้ด้วยวิธีเรียนต่างๆ อย่างมีระบบหรือไม่มีระบบ โดยตั้งใจหรือโดยบังเอิญก็ได้ ทั้งนี้สามารถทำให้บุคคลนั้นเกิดการพัฒนา ตนเอง
               การศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education) หมายถึง การจัดกระบวนการทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นการจัด การศึกษาในรูปแบบของการศึกษาในระบบโรงเรียน (Formal Education) การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non - Formal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) โดยมุ่งให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self - directed Learning) มุ่งพัฒนาบุคคลให้สามารถพัฒนาตนเอง และปรับตนเองให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองและเศรษฐกิจของโลก
แนวความคิดเกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิต
               การศึกษาตลอดชีวิตเป็นแนวความคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการศึกษาในปัจจุบันแท้จริงแล้วแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิตมิใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานานแล้วในคัมภีร์กุรอานมีคำสอนว่า บุคคลพึงเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในเปลถึงหลุมฝังศพ (From cradle to grave) หรือจากครรภ์มารดาถึงสุสาน(From womb to tomb) คอมินิอุส (Comenius)นักศึกษาในสมัยนั้นได้พูดถึงรายละเอียดของกระบวนการศึกษาตลอดชีวิตว่าควรจัดให้มีโรงเรียน สำหรับทุกคน กล่าวคือ โรงเรียนสำหรับทารกแรกเกิด เด็กก่อนวัยเรียน เด็กเยาวชนวัยเรียน คนหนุ่มสาว และคนชรา ในช่วง 60 กว่าปีที่ผ่านมานี้ได้มีการเผยแพร่เรื่องเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษ และเพิ่มความสนใจไปสู่ทั่วโลก ในการประชุมระหว่างชาติว่าด้วยการศึกษาผู้ใหญ่ (World Conference on Adult Education) ที่จัดโดย Unesco ที่กรุงมอนตรีอัล ประเทศแคนาดา ค.ศ.1960 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ค.ศ.1972 และที่กรุงไนโรบี
ค.ศ.1986 ได้พัฒนาแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิต อันมีสาระสำคัญดังนี้
               1. มนุษย์แสวงหาความรู้ และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพราะมนุษย์เราเรียนรู้จากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคมทุกขณะ เช่น จากการ ทำมาหากิน การเล่น การพักผ่อน การเข้าร่วมพิธีกรรม และการสมาคม เป็นต้น
               2. การศึกษาที่แท้จริงไม่ได้จำกัดแต่เพียงในโรงเรียนแต่ครอบคลุมถึง การศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาเกิดได้ตามโอกาส จึงไม่มี วันสิ้นสุด
               3. การศึกษาตลอดชีวิตเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้รับการศึกษา เพราะสามารถเลือกเรียนตามรูปแบบที่ตนต้องการ ยืดหยุ่นได้ตามโอกาส ทุกคน สามารถ เรียนรู้ได้จากทุกแห่งตามโอกาสจะอำนวย ฉะนั้น มนุษย์จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยการศึกษาอย่างไม่มีจุดจบไปตลอดชีวิต

การจัดการศึกษาตลอดชีวิต
แนวปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาตลอดชีวิตมีดังนี้

               1. การศึกษาในระบบโรงเรียนจะต้องไม่สิ้นสุดเพียงเมื่ออยู่ในโรงเรียนแต่จะต้องจัดให้บุคคลเมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนไปแล้วสามารถเข้ามาเรียนได้
อีก กล่าวคือ โรงเรียนจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้เตรียมความพร้อมด้านความรู้ความสามารถ และปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิตแก่นักเรียนเพื่อให้
นักเรียนสามารถมีทัศนคติ แรงจูงใจที่จะใฝ่รู้ และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองหลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนแล้ว
               2. ทุกหน่วยงานในสังคมมีบทบาทในการจัดการศึกษา อาทิ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ สโมสร ศาลาประชาคม วัด ที่ทำงาน เป็นต้น อันเป็น
การจัดการเครือข่ายการเรียนรู้ของสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ และเอกชน เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน เช่น บริการข่าวสาร ข้อมูล ต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้ผู้เรียนสามารถศึกษาค้นคว้าได้ด้วยตนเอง
               3. การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียน ควรจะจัดหลักสูตรในลักษณะของการบูรณาการ สอดคล้องกับวิถีชีวิตและประสบการณ์ของผู้เรียน เพื่อ เสริมทักษะ ความรู้ และพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน โดยให้ถือการงาน หรือ ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
               4. หลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิตจะต้องครอบคลุมบทบาทของมนุษย์ ตั้งแต่เกิดจนตายตั้งแต่ชีวิตส่วนบุคคล ครอบครัว การงาน การพักผ่อน สังคม
การเมือง เศรษฐกิจ ฉะนั้นจะต้องพัฒนาให้มีเครื่องมือที่จะเรียนรู้ สามารถใช้แหล่งวิทยาการ มีแรงจูงใจที่จะคิดศึกษาหาความรู้ไปตลอดชีวิต
               5. การศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยจะต้องเกื้อกูลกัน สังคมจะต้องส่งเสริมให้มีแหล่งวิชาที่ทุกคนมีโอกาสใช้สื่อทุกประเภท และศึกษา หาความรู้จากแหล่งต่างๆ อาทิ ห้องสมุด วิทยุ โทรทัศน์ พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ
แนวคิดการศึกษาตลอดชีวิตได้นำไปใช้โดยจัดการศึกษาตลอดช่วงอายุของบุคคลในรูปแบบต่างๆ ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการ
ศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งนี้จะต้องปรับโครงสร้างขององค์กรที่จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบาย หลักการศึกษาตลอดชีวิตโดยยึดการบูรณาการความเสมอ
ภาค ความเป็นประชาธิปไตย และความสอดคล้องกับวิถีชีวิต

คำค้น
การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non - Formal Education)
การศึกษาในโรงเรียน (Formal Education)
การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education)
การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self - Directed Learning)


กระบวนการคิดเป็น
               กระบวนการคิดเป็นอาจจำแนกให้เห็นขั้นตอนต่าง ๆ ที่ประกอบกันเข้าเป็นกระบวนการคิดได้ ดังนี้(สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน.2547:31-32)
ขั้นที่  1    การระบุปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่
ขั้นที่  2    การศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาเพื่อทำความเข้าใจปัญหาและสถานการณ์นั้น ๆ โดยจำแนกข้อมูลออกเป็น 3 ประเภท คือ
ข้อมูลสังคม  :  ได้แก่ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวปัญหา สภาพสังคมของแต่ละบุคคล ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชนและสังคมทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม เป็นต้น
ข้อมูลตนเอง  :  ได้แก่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคล ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจ เป็นข้อมูลทั้งทางด้านกายภาพ ความพร้อมทั้งทางอารมณ์ จิตใจ เป็นต้น
ข้อมูลทางวิชาการ  :  ได้แก่ข้อมูลด้านความรู้ในเชิงวิชาการที่จะช่วยสนับสนุนในการคิดการดำเนินงาน
ขั้นที่  3    การสังเคราะห์ข้อมูลทั้ง 3 ด้าน เข้ามาช่วยในการคิดหาทางแก้ปัญหาภายในกรอบแห่งคุณธรรม ประเด็นเด่นของขั้นตอนนี้คือระดับของการตัดสินใจที่จะแตกต่างกันไปแต่ละคนอันเป็นผลเนื่องมาจากข้อมูลในขั้นที่ 2 ความแตกต่างของการตัดสินใจดังกล่าว มุ่งไปเพื่อความสุขของแต่ละคน
ขั้นที่  4    การตัดสินใจ เป็นขั้นตอนสำคัญของแต่ละคนในการเลือกวิธีการหรือทางเลือกในการแก้ปัญหา ขึ้นอยู่กับว่าผลของการตัดสินใจนั้นพอใจหรือไม่ หากไม่พอใจก็ต้องทบทวนใหม่
ขั้นที่  5    เป็นการปฏิบัติตามสิ่งที่ได้คิดและตัดสินใจแล้ว

แหล่งอ้างอิง
บริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน,สำนักงาน.การจัดการศึกษานอกโรงเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้น   พื้นฐาน พุทธศักราช 2544.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,2547
——————————————————-. การศึกษานอกโรงเรียน: การประกันโอกาสทางการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชนที่อยู่นอกโรงเรียน. กรุงเทพฯ:รังษีการพิมพ์,2547
************************************************

แนวความคิดเรื่องคิด

คิดเป็น
                  แนวความคิดเรื่องคิดเป็นมีองค์ประกอบที่สำคัญในเชิงปรัชญา 3 ส่วน กล่าวคือ เป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ คือ ความสุข มนุษย์จึงแสวงหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อที่จะมุ่งไปสู่ความสุขนั้น แต่เนื่องจากมนุษย์มีความแตกต่างกันโดยพื้นฐานทั้งทางกายภาพ อารมณ์ สังคม จิตใจและสภาวะแวดล้อม ทำให้ความต้องการของคนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การให้คุณค่าและความหมายของความสุขของมนุษย์จึงแตกต่างกัน การแสวงหาความสุขที่แตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนแต่ละคน การตัดสินใจนั้น จำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ซึ่งโดยหลักการของการคิดเป็น มนุษย์ควรจะใช้ข้อมูลอย่างน้อย 3 ด้าน คือ ข้อมูลตนเอง ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ทั้งทางด้านกายภาพ สุขภาพอนามัยความพร้อมต่าง ๆ ข้อมูลสังคม ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ครอบครัว สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี ค่านิยมตลอดจนกรอบคุณธรรม จริยธรรม และข้อมูลทางวิชาการ คือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องคิด ตัดสินใจนั้น ๆ ว่ามีหรือไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้หรือไม่ การใช้ข้อมูลอย่างรอบด้านนี้จะช่วยให้การคิดตัดสินใจเพื่อแสวงหาความสุขของมนุษย์เป็นไปอย่างรอบคอบ เรียกวิธีการคิดตัดสินใจนี้ว่า “คิดเป็น” และเป็นความคิดที่มีพลวัต คือ ปรับเปลี่ยนได้เสมอ เมื่อข้อมูลเปลี่ยนแปลงไป เป้าหมายชีวิตเปลี่ยนไป

ปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานอกระบบ

ปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานอกระบบ
การจัดการศึกษานอกระบบมีปรัชญาการศึกษาที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นพื้นฐานของความคิดในการจัดกิจกรรมที่ควรเรียนรู้ทำความเข้าใจ ได้แก่(สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน.2547: 30-31)
  • 1. ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) เน้นแนวความคิดในเรื่องการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งเป็นการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา มุ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาสังคม
  • 2. ปรัชญามนุษยนิยม (Humanism) ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ยอมรับในความแตกต่างนั้น การพัฒนาคนจึงมุ่งไปที่การพัฒนาเป็นรายบุคคล จึงต้องคำนึงถึงความต้องการของบุคคลและยอมรับความรู้และประสบการณ์ของบุคคล ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้
  • 3. ปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) เน้นความเคารพในเสรีภาพส่วนบุคคล การยอมรับผลของการกระทำและการตัดสินใจให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบของตนเองต่อการกระทำทางสังคม การจัดการศึกษาจึงมุ่งเสริมสร้างพลังในการพัฒนาและการตัดสินใจของบุคคล
  • 4. ปรัชญาการศึกษาในกลุ่มปฏิรูปก้าวหน้า (Radicalism) กลุ่มปรัชญานี้เป็นที่รวมของแนวคิดที่วิพากษ์การศึกษาที่จัดอยู่โดยทั่วไป มุ่งใช้การศึกษาเป็นกลไกของการแก้ปัญหาและแสวงหาทางออกในสังคม เช่น กลุ่มที่ปฏิเสธระบบโรงเรียน (Deschooling) ของอิวาน อิลลิช กลุ่มของเปาโล แฟร์ ที่วิพากษ์การศึกษาซึ่งสะท้อนนัยของการกดขี่ จำเป็นที่จะต้องสร้างมโนสำนึกใหม่ในการเรียนรู้ เป็นต้น
                  หากจะพิจารณาถึงการศึกษานอกระบบที่จัดในประเทศไทยแล้ว อาจกล่าวได้ว่าการจัดการศึกษานอกระบบของไทยมิได้ยึดมั่นในหลักปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งโดยตรง แต่ได้ผสมผสานแนวคิดจากหลักปรัชญาต่าง ๆ เข้ามาในแนวความคิดของการจัดการศึกษานอกระบบ นอกจากนั้นยังผสมผสานแนวคิดภูมิปัญญาอารยธรรมตะวันออก เข้ามาเป็นพื้นฐานความคิดจัดการศึกษานอกระบบ แนวความคิดเชิงปรัชญาที่โดดเด่นของการศึกษานอกระบบของประเทศไทย คือ แนวคิดเรื่องคิดเป็น ซึ่งเป็นได้ทั้งปรัชญาในตัวเอง และเป็นความเชื่อพื้นฐานของการจัดการศึกษานอกระบบของประเทศไทย

หลักการสำคัญ 5 ประการ การจัดกระบวนการเรียนรู้

การจัดกระบวนการเรียนรู้ การศึกษานอกระบบจึงยึดหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ หลักความเสมอภาคทางการศึกษา หลักการพัฒนาตนเองและการพึ่งพาตนเอง หลักการบูรณาการการเรียนรู้และวิถีชีวิต หลักความสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และหลักการเรียนรู้ร่วมกันและการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนี้(สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน.2546 : 3-4)
  • 1. หลักความเสมอภาคทางการศึกษา กลุ่มเป้าหมายของการศึกษานอกระบบส่วนมากเป็นผู้พลาดโอกาส และผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ซึ่งอาจมีความแตกต่างทางด้านสถานภาพในสังคม อาชีพเศรษฐกิจ และข้อจำกัดต่าง ๆ ในการจัดการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้การศึกษานอกระบบต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ หากแต่สร้างความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน
  • 2. หลักการพัฒนาตนเองและการพึ่งพาตนเอง การจัดการศึกษานอกระบบจะต้องจัดการเรียนการสอน และกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพของตน สามารถเรียนรู้ เกิดความสำนึกที่จะพัฒนาตนเองได้ เป็นคนคิดเป็น ปรับตัวเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนด้วยตนเอง พึ่งพาตนเอง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุขท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม
  • 3. หลักการบูรณาการการเรียนรู้กับวิถีชีวิต หลักการนี้อยู่บนพื้นฐานของการจัดการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับสภาพปัญหา วิถีชีวิต สภาพแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่นของผู้เรียน ซึ่งป็นหลักการที่สำคัญในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา สิ่งดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้เป็นลักษณะของการบูรณาการจึงมีความเหมาะสม โดยบูรณาการสาระต่าง ๆ เพื่อการเรียนรู้ และบูรณาการวิธีการจัดการเรียนการสอน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการคุณภาพชีวิตของผู้เรียนอย่างเป็นองค์รวม
  • 4. หลักความสอดคล้องกับปัญหาความต้องการและความถนัดของผู้เรียน หลักการนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักความต้องการของตนเอง สามารถจัดการศึกษาให้กับตนเองได้อย่างเหมาะสม ครู กศน. มีบทบาทในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนร่วมกำหนดวัตถุประสงค์ สาระการเรียนรู้ วิธีการเรียน และการประเมินผลการเรียนรู้ของตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการการศึกษานอกระบบที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ
  • 5. หลักการเรียนรู้ร่วมกันและการมีส่วนร่วมของชุมชน การเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มผู้เรียนนับว่าสำคัญ เป็นการส่งเสริมและสร้างกัลยาณมิตรในกลุ่มผู้เรียน ก่อให้เกิดความร่วมมือความผูกพัน เอื้ออาทร การช่วยกันและกัน ปลูกฝังวินัยในตนเอง ฝึกความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นสำหรับผู้เรียนที่มีวุฒิภาวะ สำหรับการมีส่วนร่วมของชุมชน ก็นับว่าเป็นหลักการสำคัญในการจัดการศึกษานอกระบบ ชุมชนสามารถเข้ามาร่วมในการจัดทำหลักสูตร สถานศึกษา การจัดสรรทรัพยากรเป็นแหล่งเรียนรู้ และสนับสนุนในเรื่องอื่น ๆ เพื่อผลิตผู้เรียนที่เป็นสมาชิกที่ดีของชุมชนต่อไป

ปรัชญาการศึกษาที่เกี่ยวกับการศึกษานอกระบบ

หลักการของการจัดการศึกษานอกระบบ
                    หลักการจัดการศึกษานอกระบบ ยึดหลักการและความมุ่งหมายโดยภาพรวมตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ควบคู่กับหลักการการศึกษานอกระบบ หลักความเสมอภาค การมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบ กระบวนการเรียนรู้ ความหลากหลาย ความยืดหยุ่น การบูรณาการ การกระจายอำนาจ เพื่อให้การศึกษานอกระบบเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
                      ความเชื่อพื้นฐานของการจัดการศึกษานอกระบบ เป็นความเชื่อที่แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า การศึกษาอาจเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น การศึกษานอกระบบอาจพิจารณาได้    2 มิติ คือ
                  มิติที่  1  เป็นการศึกษาที่จัดขึ้นนอกเหนือจากที่จัดในโรงเรียน โดยมีหลักสูตรวิธีการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลเช่นเดียวกัน แต่ก็มีความยืดหยุ่นสามารถปรับให้เหมาะสมกับสภาพของชุมชน ผู้เรียนสามารถนำเนื้อหาจากสภาพแวดล้อม หรือความต้องการของผู้เรียนมากำหนดเป็นหลักสูตรก็ได้ แนวคิดดังกล่าวให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีชีวิต จิตใจ มีอารมณ์ มีศักด์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพที่จะเลือกและตัดสินใจ สามารถรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนตัดสินใจ เป็นมนุษย์ที่พัฒนาได้ด้วยตนเอง มิใช่เครื่องจักรหรือผู้จำนนที่จะถูกใครบังคับชี้นำได้ โดยไม่ยินยอม มนุษย์เป็นผู้ที่สามารถคิดเองได้ สามารถคิดเป็น รู้จักผิดชอบชั่วดี ประเด็นสำคัญคือ มนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มิใช่ถูกสอน เมื่อเขาปรารถนาที่จะเรียน ก็จะขวนขวายที่จะเรียน และสามารถเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งจนนำความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว และชุมชนของตนได้
                  มิติที่  2  เป็นการศึกษาที่จัดขึ้นสำหรับผู้ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน เป็นผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการที่โรงเรียนจัดให้ได้ โดยข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนทางด้านร่างกาย จิตใจ ที่สำคัญคือส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในการใช้ชีวิตและการทำงานมาระดับหนึ่ง สามารถรับผิดชอบตนเองได้ การจัดการศึกษาจึงใช้หลักการสอนผู้ใหญ่ (Andragogy) เป็นหลักการสำคัญ นั่นก็คือ เป็นการจัดการศึกษาที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน และครูผู้สอนในการวางแผนการเรียนร่วมกัน ต้องเข้าใจเหตุผลของการเรียน มีเป้าหมายของการเรียนที่ชัดเจน ผู้เรียนสามารถเลือกวิธีเรียนที่เหมาะสมกับตนเองได้ ผู้เรียนจึงเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ที่จะร่วมตัดสินใจกับกลุ่มเพื่อนและครูว่าจะเรียนอะไร อย่างไร มีส่วนร่วมในการประเมินผลการเรียนของตนเอง ผู้จัดการศึกษาสำหรับผู้ที่อยู่นอกระบบโรงเรียนจะต้องเข้าใจธรรมชาติ จิตใจและอารมณ์ของกลุ่มเป้าหมายและจัดโอกาสให้เรียนด้วยตนเอง เรียนจากของจริง เอาความรู้และประสบการณ์จากการทำงานมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ด้วย การออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งด้านร่างกาย ความคิด จิตใจ สติปัญญา และสภาพแวดล้อม
                         ความเชื่อพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของการจัดการศึกษานอกระบบ ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นของประเทศไทย คือ ความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนต้องการความสุขเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต การคิดตัดสินใจ การเลือกกระทำหรือไม่กระทำใด ๆ ล้วนใช้เหตุผล ข้อมูลประกอบการคิดอย่างรอบด้านอย่างน้อย 3 ด้าน คือ ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ทั้งด้านร่างกาย  สุขภาพ อนามัย จิตใจ ฐานะความเป็นอยู่ ข้อมูลเกี่ยวกับสังคม ทั้งสังคม วัฒนธรรม ประเพณีและสภาพแวดล้อมทางกายภาพต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลทางวิชาการคือความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจนั้น ๆ การคิดแบบคิดเป็นจึงเป็นการใช้ข้อมูลประกอบการคิดอย่างรอบด้าน นำมาสู่การตัดสินใจเลือกที่จะเชื่อ เลือกที่จะกระทำ โดยสามรถอธิบายเหตุผลของตนเองได้ ซึ่งความคิดของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป การจัดการศึกษานอกระบบ จึงต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดและตัดสินใจด้วยตนเอง หัวใจสำคัญ คือการยอมรับและเคารพในการตัดสินใจของผู้เรียน ซึ่งเป็นรากฐานของความเป็นประชาธิปไตย ในระดับพื้นฐานด้วย
                      กลุ่มเป้าหมายการศึกษานอกระบบส่วนมากเป็นเยาวชนและผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้มีวุฒิภาวะ มีประสบการณ์ มีความรับผิดชอบในการประกอบอาชีพ ดูแลครอบครัว และมีข้อจำกัดมากมายในการเรียนรู้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวทำให้การจัดกระบวนการเรียนรู้ไม่เหมือนกับเด็ก เพราะมีอะไรที่แตกต่างกันหลายอย่าง เช่น ความคิดอ่าน ประสบการณ์ ความพร้อม การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจึงจำเป็นต้องให้สอดคล้องกับความต้องการและธรรมชาติของผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม นำความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง
                     การศึกษานอกระบบเป็นกระบวนการของการศึกษาตลอดชีวิต มีภารกิจสำคัญที่มุ่งให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการศึกษาพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตตามมาตรฐานของสังคมซึ่งเป็นสิทธิที่คนทุกคนพึงได้รับ นอกจากนั้นยังจะต้องได้รับการศึกษาที่ต่อเนื่องจากการศึกษาพื้นฐานนำความรู้ไปพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาชุมชนและสังคมในที่สุด